วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

การตรวจสอบอาคาร ความเป็นมา ขั้นตอนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


การตรวจสอบอาคาร
Building Audit

พันกรณ์ ชีวะวุฒิวัฒนวิทย์
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
E-mail : prt22@hotmail.com

บทคัดย่อ
การตรวจสอบอาคาร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยในการใช้อาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบของอาคาร โดยผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกต ทำรายงาน ได้แก่ ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง ระบบบริการและอำนวยความสะดวก ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ทดสอบสมรรถนะระบบที่เกี่ยวข้องกับการหนีไฟ ตลอดจนการบริหารจัดการความปลอดภัย เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยในการใช้อาคาร

Abstract
Building Audit. Main purpose is to strengthen the building structure, safety of buildings and building components. The building auditor is responsible for audit observations include reporting for structure, services and facilities, sanitation and the environment. Prevention and extinguishing systems. Performance test systems that involve fire and safety management. To strengthen the building structure and safety of building

Keyword: Building audit , Inspector

บทนำ
ประวัติความเป็นมาของการตรวจสอบอาคาร โดยที่มาตรา ๓๒ ทวิ (๓)แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี เพื่อทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการใช้อาคาร โดยให้มีผลบังคับใช้กับอาคาร 9 ประเภท ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ภายในระยะเวลา 2 ปี
ในปัจจุบัน มีอาคารประเภทควบคุมการใช้งาน และสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศกว่า 20,000 แห่ง ที่เข้าข่ายต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารให้แล้วเสร็จ โดยจะต้องจัดส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เพื่อขอใบรับรองการตรวจสอบอาคาร มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา ๔๖ ทวิ และ๖๕ ทวิ ถึงขั้นถูกสั่งปิดและห้ามใช้อาคารทั้งหมดหรือบางส่วนของอาคาร และต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยต้องระวางโทษปรับอีกวันละ 10,000บาท จนกว่าจะดำเนินการตรวจสอบและส่งรายงานต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วเสร็จ

วัตถุประสงค์ของกฎหมาย
เหตุผลที่ต้องมีการออกกฏหมายทั้ง 2 ฉบับ นี้ เนื่องจากในอดีตหลังจากอาคารก่อสร้างแล้วเสร็จและได้รับใบรับรองอาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะไม่มีกฏหมายหรือข้อกำหนดที่ชัดเจนในการตรวจสอบการใช้งาน หรือ ระบบต่างๆ ของอาคารโดยเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลอาคารแต่ละแห่ง จนกว่าจะมีการยื่นขออนุญาตแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงอาคาร โดยในความเป็นจริง ภายหลังจากเริ่มใช้อาคาร มักจะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ วัสดุตกแต่ง ระบบบริการของอาคาร ซึ่งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร ทั้งนี้อาจจะโดยความไม่ตั้งใจ หรือความไม่รู้ของเจ้าของ หรือผู้ดูแลอาคาร ดั้งนั้นกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบตรวจสอบการใช้อาคารให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคารเป็นหลัก โดยกำหนดหลักเกณฑ์ของ ผู้ตรวจสอบ และ วิธีการตรวจสอบเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ประเภทอาคาร ที่ต้องยื่นรายงานการตรวจสอบอาคาร
1. อาคารสูง (อาคารทีมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร ขึ้นไป)
2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ( อาคารที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป )
3.อาคารชุมนุมคน(อาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนมีพื้นที่ตั้งแต่1,000ตารางเมตร หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป )
4.โรงมหรสพ(อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับฉายภาพยนต์แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม )
5. โรงแรม ตามกฏหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
6. สถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
7. อาคารชุด ตามกฏหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป โดยมีบทเฉพาะกาลดังนี้
อาคารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 7 ปี นับจากวันที่กฏกระทรวงนี้บังคับใช้ (กฏกระทรวงบังคับใช้วันที่ 25 ตุลาคม 2548) ดังนั้นต้องยื่นรายงานการตรวจสอบครั้งแรกภายใน วันที่ 24 ตุลาคม 2555
อาคารที่มีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่กฏกระทรวงนี้บังคับใช้ (กฏกระทรวงบังคับใช้วันที่ 25 ตุลาคม 2548) ดังนั้นต้องยื่นรายงานการตรวจสอบครั้งแรกภายใน วันที่ 24 ตุลาคม 2553
8.อาคารโรงงาน ตามกฏหมายว่าด้วยโรงงานที่มีความสูงมากกว่า หนึ่งชั้น และมี พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
ข้อสังเกตุ ในกรณีที่อาคารโรงงานมีความสูง 23 เมตรขึ้นไป หรือ มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ต้องตรวจสอบเพราะเข้าข่ายอาคารสูง หรือ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
9.ป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือ มีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือ ป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตร ขึ้นไป
ตรวจสอบเมื่อใด
กฏกระทรวง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 29 ธันวาคม 2548 โดยมีระยะเวลาให้เจ้าของอาคารดำเนินการตรวจสอบและส่งรายงานฉบับแรกภายใน 2 ปี ดังนั้นอาคารที่ไม่ได้รับการยกเว้นจึงต้องส่งรายงานฉบับแรกภายใน วันที่ 29 ธันวาคม 2550

ขอบเขตของผู้ตรวจสอบอาคาร
การตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ตามที่กำหนดและตามที่ต้องการได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตของผู้ตรวจสอบ ดังนี้
“ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกตด้วยสายตาพร้อมด้วยเครื่องมือพื้นฐานเท่านั้น จะไม่รวมถึงการทดสอบที่อาศัยเครื่องมือพิเศษเฉพาะ ทำรายงาน รวบรวมและสรุปผลการ วิเคราะห์ ทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้สอยอาคาร แล้วจัดทำรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่ทำการตรวจสอบนั้นให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อให้เจ้าของอาคารเสนอรายงานผลการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี

ผู้ตรวจสอบต้องตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
1.หลักเกณฑ์ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการก่อสร้างอาคารนั้น หรือ
2. มาตรฐานความปลอดภัยของสถาบันของทางราชการ สภาวิศวกร หรือสภาสถาปนิก
ทั้งนี้ ณ สถานที่ วัน และเวลาที่ทำการตรวจสอบตามที่ระบุในรายงานเท่านั้น”

หน้าที่เจ้าของอาคาร
หน้าที่ของเจ้าของอาคาร ผู้ดูแลอาคารหรือผู้จัดการนิติบุคคล มีดังนี้
1. จัดหา หรือว่าจ้างผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการควบคุมอาคาร
2. จัดเตรียมแบบอาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบอาคาร ในกรณีที่ไม่มี ให้เจ้าของจัดทำแบบเพื่อใช้ในการตรวจสอบ
3. จัดเตรียมเอกสารและร่วมวางแผนการตรวจสอบอาคารร่วมกับผู้ตรวจสอบอาคาร และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบอาคาร
4. ดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ตามรายงานของผู้ตรวจสอบอาคาร
5.จัดหาหรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารมีความเห็นว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เข้ามาดำเนินกาตรวจสอบและทำรายงานทางเทคนิคเฉพาะสาขา
6. นำส่งรายงานการตรวจสอบอาคารที่ผู้ตรวจสอบลงนามรับรองแล้วต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
7. จัดให้มีการตรวจสอบ และดูแลรักษาอาคารตามแผนงานที่ผู้ตรวจสอบอาคารจัดทำไว้ให้

รายการที่ตรวจสอบอาคาร
การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบอาคารต้องมีอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ดังนี้
a) การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
b) การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
c) การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
d) การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
e) การชำรุดสึกหรอของอาคาร
f) การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
g) การทรุดตัวของฐานรากอาคาร
2) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคาร
a) ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
i. ระบบลิฟท์
ii. ระบบบันไดเลื่อน
iii. ระบบไฟฟ้า
iv. ระบบปรับอากาศ
b) ระบบสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม
i. ระบบประปา
ii. ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
iii. ระบบระบายน้ำฝน
iv. ระบบจัดการมูลฝอย
v. ระบบระบายอากาศ
vi. ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
c) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
i. บันไดหนีไฟและ ทางหนีไฟ
ii. เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
iii. ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน
iv. ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
v. ระบบลิฟท์ดับเพลิง
vi. ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงใหม้
vii. ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
viii. ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
ix. ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
x. ระบบป้องกันฟ้าผ่า
3) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร
a) สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
b) สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออก ฉุกเฉิน
c) สมรรถนะระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงใหม้
4) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร
a) แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
b) แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
i. แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
ii. แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร
บทลงโทษ
บทลงโทษตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ 2522 มาตรา 65 ทวิ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ทวิ ( การส่งรายงานตรวจสอบอาคาร ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง อีกทั้งมีผลกระทบด้านอื่น เช่น ในกรณีที่ต้องใช้ใบรับรองอาคาร ประกอบในเอกสารขออนุญาตอื่น เช่น ใบประกอบการโรงงาน ใบประกอบการโรงแรม เป็นต้น

4. สรุป
การตรวจสอบอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและกฎกระทรวง เป็นการตรวจสอบอาคารโดยเน้นที่ ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัยในการใช้อาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบของอาคารเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ตรวจสอบอาคารที่เป็นวิศวกรหรือสถาปนิก จะต้องทำหน้าที่ให้ถูกค้องดามหลักวิชาชีพ จรรยาบรรณ อย่างดีเยี่ยม

กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบพระคุณคณะอาจารย์ประจำวิชาการสัมมนาทางการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรมที่มอบความรู้นำมาสู่บทความนี้และขอขอบคุณผู้เขียนตำราเอกสารอ้างอิงที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบอาคาร

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2550. รายละเอียดการตรวจสอบอาคาร (คู่มือการตรวจสอบใหญ่) สำหรับผู้ตรวจสอบ อาคาร. กรุงเทพมหานคร : กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย.
[2] พิชญะ จันทรานุวัฒน์, 2549. แนวทางการตรวจสอบอาคาร ตามกฎหมายการตรวจสอบอาคาร. วิศวกรรมสาร ปีที่ 59, ฉบับที่ 2:
[3] พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522
[4] กฎกระทรวง การตรวจสอบอาคาร 2548

ประวัติผู้เขียน
นายพันกรณ์ ชีวะวุฒิวัฒนวิทย์
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม
คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง